อุทกภัย ของ อุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2554

จังหวัดพัทลุง

ในจังหวัดพัทลุงได้เกิดฝนตกหนักมาตั้งแต่วันที่ 21-25 มีนาคม ทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดไหลเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ 211 หมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วย อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน อำเภอศรีบรรพต อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอป่าพะยอม อำเภอกงหรา อำเภอเขาชัยสน และอำเภอบางแก้ว โดยอำเภอเมืองได้รับผลกระทบหนักที่สุด ส่วนพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลาคาดว่าน้ำจะเอ่อล้นเข้าท่วมในวันที่ 25 มีนาคม ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงประกาศเตือนให้ประชาชนริมทะเลสาบสงขลาเตรียมอพยพทรัพย์สิน เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าจะมีฝนตกหนักจนถึงวันที่ 26 มีนาคม[7]

ด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ส่งเรือท้องแบน 15 ลำออกให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุโคลนถล่มบริเวณสถานีตำรวจภูธรศรีนครินทร์ แต่ไม่มีรายงานความเสียหาย[7]

ต่อมา น้ำท่วมได้ขยายวงกว้างเพิ่มเป็น 10 อำเภอ คือ อำเภอตะโหมดและอำเภอป่าบอน ระดับน้ำเฉลี่ยสูงกว่า 1.20 เมตร ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนแล้วกว่า 18,000 ครัวเรือน นอกจากนี้ ได้เกิดโคลนถล่มริมป่าเทือกเขาบรรทัด ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประกาศเตือนประชาชนริมป่าเทือกเขาบรรทัด อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดยังไม่ได้ประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติ เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดไม่อยู่ในพื้นที่ และทางอำเภอไม่สามารถเบิกจ่ายงบช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 1 ล้านบาทได้[8]

จังหวัดนครศรีธรรมราช

ตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 26 มีนาคม ฝนที่ตกลงมาตลอดหลายวันทำให้น้ำจากเทือกเขาไหลเข้าท่วมหลายอำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช ถนนบางเส้นทางถูกตัดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนเลียบตลิ่งไม่สามารถสัญจรได้ ระดับน้ำในเขตเทศบาลสูงประมาณ 30-50 กิโลเมตร ทำให้การจราจรเป็นอัมพาตเกือบทั้งเมือง นอกจากนี้ได้มีการอพยพชาวบ้านในอำเภอหัวไทร อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอพระพรหม แต่ยังมีชาวบ้านติดค้างอยู่เป็นจำนวนมาก[8]

เกิดเหตุโคลนถล่มทับกุฏิสำนักสงฆ์พังพินาศ ในหมู่ 8 ตำบลขนอม พระสงฆ์ที่พำนักอยู่ 2 รูปหายไป โดยหลังจากการค้นหาหลายชั่วโมงได้พบว่ามรณภาพอยู่ในลำคลองขนอม ห่างจากสำนักสงฆ์ไปประมาณ 5 กิโลเมตร โดยในคืนที่ผ่านมา ฝนได้ตกลงมาไม่หยุด คาดว่าจะทำให้ดินและก้อนหินถล่มลงมา[8]

ธีระ มินทราศักดิ์ อดืดผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยวันที่ 27 มีนาคม ว่า ทางจังหวัดมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 20 อำเภอ ราษฎรได้รับความเดือดร้อนกว่า 60,000 คน ความเสียหายเบื้องต้นมากกว่า 250 ล้านบาท ซึ่งการคมนาคมจากนครศรีธรรมราชไปยังกรุงเทพมหานคร สายการบินและบริการรถไฟไม่สามารถให้บริการได้ มีบริการเฉพาะรถปรับอากาศเท่านั้น[9]

จังหวัดตรัง

โส เหมกุล ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรังสรุปสถานการณ์น้ำท่วม 4 อำเภอ ในอำเภอเมืองตรัง อำเภอนาโยง อำเภอห้วยยอด และอำเภอวังวิเศษ รวม 10 ตำบล 300 หมู่บ้าน ที่ตำบลนาโยงเหนือ น้ำท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรมากกว่า 500 ไร่ หมู่ 1 ถึงหมู่ 8 ในตำบลนาโยงใต้มีระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ถนนเข้าหมู่บ้านรถเล็กไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ ส่วนตำบลห้วยยอดและวังวิเศษ ระดับน้ำสูงประมาณ 20-50 เซนติเมตร ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำตรังได้ขนย้ายสิ่งของไปยังที่ปลอดภัย[8]

วันที่ 27 มีนาคม ในหลายตำบลของอำเภอเมืองตรัง ระดับน้ำสูงประมาณ 50-70 เซนติเมตร ด้านถนนสายควนขัน-บางรัก มีระดับน้ำสูงประมาณ 30 เซนติเมตร รถเล็กสัญจรไปมาอย่างยากลำบาก โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาสิ่งขวางกั้นทางน้ำ ทำให้การระบายน้ำไหลสู่ที่ต่ำเป็นไปอย่างล่าช้า รวทั้งเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่หลายครั้งในช่วงปลายปี 2553 ที่ผ่านมา[6]

จังหวัดระนอง

เวลา 3.30 น. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554 ได้เกิดน้ำป่าทะลักบริเวณอำเภอกะเปอร์ ส่งผลให้สะพานทางเบี่ยงในถนนเพชรเกษมระนอง-ภูเก็ตถูกน้ำเซาะขาด ทำให้การจราจรไม่สามารถผ่านไปมาได้ ทางชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ได้เร่งซ่อมแซม ด้านชาสันต์ คงเรือง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้เปิดเผยว่า ทางสำนักงานได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่รับมือสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงภัย 28 ตำบล 84 หมู่บ้าน[6]

จังหวัดชุมพร

เวลา 5.00 น. ของวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554 ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากบริเวณอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ส่งผลให้สะพานเส้นทางระนอง-หลังสวนไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ แขวงการทางพะโต๊ะได้ขอสนับสนุนมายังจังหวัดเพื่อให้ช่วยส่งเครื่องจักรและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน[6]

ต่อมา เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554 พินิจ เจริญพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้รับรายงานว่ามีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยรวม 7 อำเภอ 38 ตำบล 334 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนร่วม 37,000 คน ประเมินความเสียหายเบื้องต้นกว่า 30 ล้านบาท โดยอำเภอที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ อำเภอหลังสวน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่านักศึกษาและเด็กรวม 7 คน ติดอยู่บนเกาะแกลบ โดยไม่มีไฟฟ้าและแสงสว่างในเวลากลางคืน[10]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2554 http://www.bangkokpost.com/business/tourism/230481... http://www.bangkokpost.com/news/local/228789/five-... http://www.bloomberg.com/news/2011-04-01/southern-... http://www.posttoday.com/%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%... http://www.ryt9.com/s/iq03/1117881 http://earthobservatory.nasa.gov/IOTD/view.php?id=... http://www.komchadluek.net/detail/20110327/92870/%... http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/187629.htm... http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=95... http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1...